วันพุธที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2554

มาตกปลาช่อน และ กระพง แบบTexas Rigกันมั๊ยครับ!!!


HOW TO Texas Rig 
ข้อมูลเบื้องต้น สำหรับผู้ที่เพิ่งเริ่มหัดเล่นเหยื่อปลอมแบบ เท็กซัสริก 
ประเภทของเหยื่อปลอม ที่ใช้ตกปลา แบบ Teaxs Rig ( เท็กซัส ) โดยส่วนมาก็จะใช้เหยื่อจำพวก เหยื่อยาง ประเภทต่างๆที่เราอาจรู้จักกันดี เช่น
-            หนอนยาง ( จำพวก หนอนหางตะขอ หรือ หางตรงตัวสั้น  หรือ หนอนหางเกลียว และ พวกหนอนขน) พวกนี้ใช้งานได้ดีมากๆ สำหรับ ปลาช่อน บ้านเรา นะครับ
-            ไส้เดือนยาง หรือหนอนยางตัวยาว (ไม่ว่าจะเป็นหาง แบนตรง หรือ หางเกลียว ) จำพวกนี้ก็ใช้ได้ผมดี ทั้งปลากะพง และ ปลาช่อน
-            กบยาง  อันนี้คงไม่ต้องอธิบายกันมากนะครับ ใช้ได้ดีมากๆสำหรับหมายธรรมชาติต่างๆ และ ในบ้านเราก็มีให้เลือกมากมาย หลากหลายสีสัน และ หลายขนาด ถังแบบเท้าโต ( หรือที่เรียกว่า ไอ้ตีนโต พวกนี้แจ่มมากสำหรับ ชะโดใหญ่บ้านเรา ) หากเราเลือกไซร์เล็กลงมานิดนึง ก็ยังเห็นผลได้ดี กับปลาช่อนบ้าเราอีกตะหาก  จำพวก กบPT ก็ใช้งานได้ดีนะครับ( ส่วนเรื่องสี และ ลายนั้น ขึ้นอยู่กับ ความชอบส่วนบุคคล และ ขึ้นอยู่กับแต่ละหมายนะครับ )
-            จิ้งจกยาง อันนี้ก็ใช้งานได้ดี สำหรับปลาช่อน โดยส่วนตัวแล้วในช่วงเริ่มหัดตีเหยือ่ปลอม ผมรู้จักการตกปลาช่อน หลังบ้านโดยการใช้จิ้งจกยาง ที่เป็นชุดสำเร็จจากทางร้านอุปกรณ์ตกปลา (จะเป็นตัวเหยื่อยาง จิ้งจก ตัวนิ่มๆหางยาวๆ เกี่ยวมากับ ตาเบ็ดตัวยาว พร้อมการ์ดกันสวะครับ) ใช้งานง่ายมากๆครับ เนื่องจาก ตาเบ็ดที่เค้าใส่มาให้ มีการ์ดในตัวอยู่แล้ว ผมก็ตีไปเรื่อยๆเลยครับ ไม่ว่าจะมีพงหญ้า กอบัว ตีได้กระจุย ไม่เกี่ยวอะไรเลยครับ แต่ข้อเสียคือ บางที่ที่เจอตัว ปลาฮุบแล้ว และ พอเราSet Hook เร็วไปนิดนึง ปลาช่อนก็คาบเอาหางจิ้งจกยาง ของเราไปครับ ทำให้ต้องเปลี่ยนเหยื่อบ่อยหน่อย แต่โดยรวมแล้ว ถือว่าOK เลยครับ สำหรับเหยื่อจิ้งจกตัวนี้
-            ปลายาง แบบต่างๆครับ อันนี้ก็ใช้งานได้ดีนะครับ แต่ส่วนมากจะเห็นใช้กันในลักษณะ เกี่ยวกับ ตาเบ็ดหัวจิ๊ก (หือ ตาเบ็ดหัวตะกั่วครับ มีทั้งแบบหัวกลมและ หัวสามเหลี่ยมครับ ) วิธีใช้ก็ ตีและ ปล่อยให้เหยื่อจมถึงหน้าดินและ ลากมาเรื่อยๆครับ รูปทรงหัวจิ๊กก็มีผลต่อลักษณะการว่ายของเหยื่อด้วยนะครับ แต่ยังไงก็ใช้งานง่ายและเห้ฯผลได้ดีมากๆสำหรับ ปลากะพงเขี้ยวๆ ตามบ่อนะครับ
-              กุ้งยาง หรือ ตัวประหลาด  เหยื่อยางลักษณะนี้ จะเป็นตัวกุ้ง หรือ ตัวเป็นกุ้ง หางจะมีเนื้อยางเป็นริ้วๆ ดูไม่ค่อยออกครับ แต่ ถ้านำมาตกแบบ Teaxs Rig ก็ใช้งานได้ดีนะครับ ทั้งหมายธรรมชาติ และ ตามบ่อตกปลาครับ
เหยื่อยาง หลากหลายประเทภนี้ สามารถใช้เกี่ยวแบบเท็กซัส ได้ทั้งหมด



อุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการประกอบ ชุดTexas Rig
1.   ตะกั่ว หลุม ( ดูลายละเอียดตามภาพครับ )
                   >   ถ้าเลือกใช้ ตาเบ็ดหัวจิ๊ก ไม่ตอ้งใส่ตะกั่วนะครับ เราสามารถผูกสายกับตาเบ็ดหัวจิ๊กได้เลย เพราะตาเบ็ดหัวจิ๊กมีน้ำหนักในตัวเองอยู่แล้วครับ
2.   ตัวเบ็ดสำหรับเกี่ยวแบบ Texas Rig  ( ดูลายละเอียดแบบของตาเบ็ดตามภาพนะครับ ) ควรเลือกขนาดของตาเบ็ดให้เหมาะสมกับ ขนาดของตัวเหยื่อด้วยนะครับ
3.   เหยื่อยาง รูปแบบต่างๆ ตามต้องการครับ  (ภาพตัวอย่างเหยื่อ รูปความเห็นที่ 2ครับ)
4.   ลูกปัด อันนี้ใช้สำหรับกัน ระหว่าง ตาเบ็ด กับ ตะกั่วครับ
5.   ลายสต๊อปเปอร์ ( หรือตัวหยุดทุ่นครับ ) อันนี้ถ้าตกแบบTexas Rig ปกติทั่วไปจะไม่ต้องใช้ครับ แต่โดยส่วนตัว ผมมีทริคอีกแบบ ( จะอธิบายต่อไปครับ )
เมื่อเรามีอุปกรณ์ครบแล้ว เราก็มาเริ่มประกอบสายหน้ากันเลยครับ โดยส่วนตัวแล้ว ผมจะชอบใช้สายเป็น หรือสายPE ในรอก ล้อย ตะกั่ว และลูกปัด เสร็จแล้ว ก็ผูกกับตาเบ็ด Texas Rig  ( เงื่อนการผูกตาเบ็ด ดูได้จากภาพนะครับ ) แล้ว ค่อยเอาเหยื่อยางที่เราเลือกไว้มาเกี่ยว (วิธีเกี่ยวเหยื่อก็จะบอกต่อไปครับ )

วิธีเกี่ยวเหยื่อยาง แบบTexas ครับ (ดูภาพประกอบ ลายละเอียดนะครับ)
1.   นำคมเบ็ดฝั่งไปที่ส่วนหัวของเหยื่อยาง
2.    เกี่ยวให้คมเบ็ดทะลุออกมาตรง ด้านล่างของหัวเหยื่อนะครับ  เสร็จแล้วพลิกคมเบ็ดมาตรงด้านท้องของเหยื่อนะครับ  จับคมเบ็ดให้แนบกับตัวท้องเหยื่อดังภาพครับ
3.   กะขนาดคมเบ็ด และ ดึงตัวเหยื่อให้ยืดเล็กน้อย และค่อยๆฝั่งคมเบ็ดขึ้นมาจากท้องเหยื่อ
4.   เกี่ยวคมเบ็ดให้ทะลุขึ้นมาจากท้องเหยื่อ และให้คมเบ็ดตั้งฉากกับท้องเหยื่อในลักษณะตามภาพนะครับ ให้คมเบ็ดติดกับหลังเหยื่อตามภาพจะเป็นการ์ดกันสวะให้เหยื่อ และ เมื่อเวลาSetHook องศาของคมเบ็ดจะทะลุปากของปลานักล่าทันทีครับ
ภาพประกอบ ชุด Texas ก่อนเกี่ยวเหยื่อยางครับ จะเกี่ยวเหยื่อกับตาเบ็ดก่อน แล้วค่อยผูก หรือ 

จะผูกชุดให้เสร็จแล้วค่อยเกี่ยวเหยื่อทีหลังก็ได้ครับ 

 How to Texas Rig a Soft Plastic Fishing Lure


การเลือกหมายและการสร้างแอ็คชั่น ให้กับเหยื่อTexas ของเราครับ
    เอาเมื่อเราประกอบชุดสำหรับเสร็จแล้ว เราก็มาเริ่มมองหาหมายเด็ดๆ สำหรับทดสอบชุดของเรากันดีกว่าครับ  การเลือกหมายสำหรับการตกปลาแบบ Texasนั้นมีข้อได้เปรียบการตีเหยื่อปลอมด้วยเหยื่อแบบอื่นๆเป็นอย่างมากครับ (อันนี้แหละคือส่วนสำคัญที่ทำให้ผม ชื่นชอบวิธีการตกปลาแบบ Texas มากๆเลยครับ ด้วยเหตุผลหลักๆ 2 ประการ ได้แก่
1.      เนืองจากเหยื่อยางของเราได้ทำการฝั่งคมเบ็ด หรือ เก็บคมเบ็ดไว้ที่หลังเหยื่อเรียบร้อย ก็เสมือนว่า เหยื่อยางของเรามีการ์ดกันสวะในตัว ไม่ต้องกลัว หญ้า หรือ สาหร่าย แต่อย่างได้ จัดไปได้ทุกที ยิ่งที่ตอไม้ หญ้ารกๆ ( ซึ่งผมจะไม่กล้า ส่งเหยื่อตัวอื่นๆลงไปเลย เพราะกลัวจะเกี่ยวเหยื่อผมขาด )ผมก็จะเลือก ผูกชุด Texas นี่หละครับ ชุดนึงราคาไม่แพง ใช้งานได้คุ้มค่า ตีโดนหญ้าก็ไม่ต้องกลัวลากมาได้เรื่อยๆ และ เรื่องสีของเหยื่อก็มีให้เลือกหลากหลาย สีสันสมจริง หรือ สีแสบทรวงกระชากใจก็ มีให้เห็นเยอะแยะครับ ต้องลองใช้งานกันดู

2.      สิ่งที่ผมชื่นชอบอีกอย่างสำหรับ การตกแบบ Texas ก็คือ เราสามารถกำหนด น้ำหนักของเหยื่อปลายสายของเราได้ครับ ไม่เหมือนการซื้อเหยื่อราคาแพงๆ แต่ถ้าคันของคุณเป็นแบบ คันแข็ง หรือ เฮฟวี่แล้วละก็ คุณก็จะอดซื้อ หรือ ชื่นชมเหยื่อสวยๆ แต่น้ำหนักเบาๆไปเลย เพราะ ซื้อมาก็ไม่รู้จะตียังไง ตีได้ก็ไม่ไกล แต่สำหรับการตกแบบ Texas หากเราเจอหมายกว้างๆ อยากส่งเหยื่อไปไกลๆ ( กะว่า ตีครั้งเดียวเอาคุ้มครับ !!!) เราก็ จัดแจงใส่ตะกั่วนำหนักเยอะนึดนึง และ ทำการ ปรับหน่วงให้ลื่นสุดๆ จัดการฟาดไปให้สุดแรง เท่านี่เราก็สามารถสำรวจพื้นหมายได้อย่างทั่วถึงกันไปเลยครับ

การสร้างแอ็คชั่นให้กับเหยื่อ Texas นั้น  มี  วิธีครับ
               เมื่อเหยื่อค่อยๆจมจนถึงหน้าดินแล้ว เราสามารถออกแอ็คชั่นให้กับเหยื่อได้ โดยการกระตุกปลายคันเล็กน้อย 
       เมื่อเราส่งเหยื่อออกไป แล้ว รอเหยื่อให้ค่อยๆจม จนถึงหน้าดิน ตัวเหยื่อยางจะค่อยๆจมอย่างพริ้มไหว ( เหยื่อยางแต่ละแบบมีแอ็คชั่น หรือ ความพลิ้วไหวแตกต่างกันนะครับ )
1.   ลากกลับมาช้าๆ โดยจินตนาการ และ รับรู้ถึง แรงสั่นสะเทือนที่ สายเอ็นส่งกลับมา ว่าตรงจุดที่เหยื่อของเรากำลังถูกลากผ่านนั้น เป็นแนวสาหร่าย หรือ ก้อนหิน หรือ ลากมาเจอลากไม้ หากเจอแนวก้อนหิน หรือกองหิน ( ลักษณะของสายเอ็นจะตึง เมื่อเราลากขึ้นก้อนหินก้อนแรก และจะเริ่มหย่อนเมื่อลากขึ้นมาสุดบนก้อนหิน และพอเจอหลุม หรือ ช่องว่างของแนวหิน ลักษณะสายเอ็นจะตึงโดยทันที เมื่อเรารับรู้ถึงจังหวะนี้แล้ว อย่าเพิ่งกรอสายนะครับ แต่ให้เรา กดฟรีสปูน หรือ ส่งสายออกไปอีกจนกว่าสายจะหย่อนอีกครั้ง นั้นหมายความว่า เหยื่อของเราได้ลงไปถึงก้นหลุมแล้ว เมื่อมาถึงหมายลักษณะนี้ ให้เราเจิร์คเหยื่อ หรือ กระตุกปลายคัน เหยื่อจะขึ้นและลง กระตุ้นความสนใจของปลานักล่าที่ซุ้ม ซ่อนตัวอยู่ในแนวกองหิน วิธีนี้ใช้ได้ผลดีมากๆ สำหรับหมายตามแนวหิน ชายทะเล ส่วนมากผมใช้หนอนขน สีสดๆ ใส่ตะกั่วไซร์ใหญ่นิดนึง หาแนวกองหิน ชายทะเล ปลาทีได้ ก็จำพวก เก๋าชายฝั่ง ครับ      
2.ใช้วิธี ลากสลับกับการหยุด เมื่อเราหยุดกรอเอ็น ให้กระตุกปลายคัน ขึ้น-ลง หลายๆครั้ง เหยื่อของเราจะเต้นอยู่ใต้น้ำครับ อันนี้ก็เรียกร้องความสนใจของปลานักล่าได้เป็นอย่างดีเช่นกันครับ

       เพิ่มเติมครับ ภาพตัวอย่างการเกี่ยวเหยื่อยางแบบ หัวจิ๊กครับวิธีการผูกก็คล้ายๆกับแบบ Texas ครับ เพียงแต่ ไม่ต้องใส่ตะกั่ว เพราะ หัวจิ๊กที่เราเลือกใช้ ก็เป็นตัวถ่วงน้ำหนักอยู่แล้วครับ สามารถผูกกับสายหน้าได้ทันที การใช้หัวจิ๊กก็ดีนะครับ ใช้งานง่ายและก็ได้ผลดี โดยเฉพาะ ตามบ่อกระพง กัดดีมากๆครับ สำหรับผู้เริ่มตีเหยื่อปลอม ผมว่าเริ่มจากปลายางหัวจิ๊กก็ดีนะครับ เป็นเหยื่อที่ราคาถูก ใช้งานง่าย และ โดยส่วนมาก ตามร้านขายอุปกรณ์ตกปลาเค้าก็จะมีเกี่ยวเป็นชุดๆ แยากขายไว้อยู่แล้วครับ ราคาก็ตัวละประมาณ 20- 30 บาทครับ แล้วแต่ยี่ห้อของเหยื่อยางที่เค้าใช้เกี่ยว เราสามารถสนุกกับการเลือกสีและ เหยื่อยางแบบต่างๆได้ 

_______________________________________________





วันอาทิตย์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2554

รวมสายพันธุ์ปลานักล่าในประเทศไทย3 (Introduction game fish popular in Thailand)


รวมสายพันธุ์ปลานักล่าในประเทศไทย3 (Introduction game fish popular in Thailand)


รวมสายพันธุ์ปลานักล่า ประเภท กินสัตว์น้ำขนาดเล็ก หรือ กินพืช 

ปลานิล  ( Nile )


ถิ่นกำเนิด

ปลานิลสามารถอาศัยอยู่ได้ในน้ำจืดและน้ำกร่อย มีถิ่นกำเนิดเดิมอยู่ที่ทวีปแอฟริกา พบทั่วไปตามหนอง บึง และทะเลสาบในประเทศซูดานยูกันดา และทะเลสาบแทนกันยีกา ปลานิลเข้าสู่ประเทศไทยครั้งแรกโดยสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศมกุฎราชกุมารแห่งประเทศญี่ปุ่น ซึ่งทรงจัดส่งเข้ามาทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2508 จำนวน 50 ตัว ครั้งนั้นได้โปรดเกล้าฯ ให้ทดลองเลี้ยงปลานิลในบ่อภายในสวนจิตรลดา เป็นหนึ่งโครงการในโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา
ผลการทดลองปรากฏว่าปลานิลที่ทรงโปรดเกล้าให้ทดลองเลี้ยงได้เจริญเติบโตและแพร่ขยายพันธุ์ได้เป็นอย่างดี ต่อมาจึงได้พระราชทานชื่อว่า ปลานิล (โดยมีที่มาจากชื่อแม่น้ำไนล์ (Nile) ที่เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยดั้งเดิม หรือชื่อวิทยาศาสตร์ Tilapia nilotica) และพระราชทานพันธุ์ปลาดังกล่าวให้กับกรมประมงจำนวนหนึ่ง เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2509 เพื่อนำไปขยายพันธุ์และแจกจ่ายแก่พสกนิกร และปล่อยลงไว้ตามแหล่งน้ำต่าง ๆ ตามที่เห็นว่าเหมาะสม เนื่องจากปลานิลมีคุณลักษณะพิเศษหลายอย่าง เช่น กินอาหารได้ทุกชนิด เช่น ไรน้ำ ตะไคร่น้ำ ตัวอ่อนของแมลงและสัตว์น้ำเล็ก ๆ มีขนาดลำตัวใหญ่ ความยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร แพร่ขยายพันธุ์ง่าย และมีรสชาติดี
ในปัจจุบันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังโปรดเกล้าฯ ให้ทดลองเลี้ยงและแพร่ขยายพันธุ์ปลานิลในบ่อสวนจิตรลดาต่อไป ในทางวิชาการเรียกสายพันธุ์ปลานิลดังกล่าวว่า ปลานิลจิตรลดา ซึ่งยังคงเป็นปลานิลสายพันธุ์แท้ที่ประเทศไทยได้รับทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ

ลักษณะทั่วไป

ปลานิลมีเป็นรูปร่างคล้ายปลาหมอเทศ (O. mossambicus) แตกกันที่ปลานิลมีลายสีดำและจุดสีขาวสลับกันไป บริเวณครีบหลัง ครีบก้นและลำตัวมีสีเขียวปนน้ำตาล มีลายดำพาดขวางตามลำตัว มีความยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร

อาหาร

ปลานิลกินอาหารได้หลากหลาย เช่น ไรน้ำ ตะไคร่น้ำ ตัวอ่อนของแมลง กุ้งฝอย ผักบุ้ง
ปลานิลมีนิสัยชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง (ยกเว้นเวลาสืบพันธุ์) มีความอดทนและปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี จากการศึกษาพบว่าปลานิลทนต่อความเค็มได้ถึง 20 ส่วนในพัน ทนต่อค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) ได้ดีในช่วง 6.5-8.3 และสามารถทนต่ออุณหภูมิได้ถึง 40 องศาเซลเซียส แต่ในอุณหภูมิที่ต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียส พบว่าปลานิลปรับตัวและเจริญเติบโตได้ไม่ดีนัก ทั้งนี้เป็นเพราะถิ่นกำเนิดเดิมของปลาชนิดนี้อยู่ในเขตร้อน
-----------------------------------------------
ปลาดุก  ( Walking  catfish )


ปลาดุก (อังกฤษwalking catfish) ใช้เรียกปลากลุ่มหนึ่งในสกุล Clarias ในวงศ์ Clariidae มีการแพร่กระจายพันธุ์ในน้ำจืดและน้ำกร่อยตามแหล่งน้ำของทวีปเอเชียและแอฟริกา เป็นปลาไม่มีเกล็ด ลำตัวยาว มีหัวที่แบนและแข็ง มีหนวดยาวแปดเส้น มีครีบหลังและครีบก้นยาวเกินครึ่งของความยาวลำตัว จุดเริ่มต้นของครีบหลังอยู่ล้ำหน้าจุดเริ่มต้นของครีบท้อง ครีบหลังไม่มีเงี่ยงแข็ง ไม่มีครีบไขมัน ครีบหางมนกลม ครีบทั้งหมดเป็นอิสระจากกัน[1] สามารถหายใจและครีบคลานบนบกได้เมื่อถึงฤดูแล้ง เป็นปลาวางไข่ เป็นปลากินเนื้อโดยเฉพาะเมื่อตัวโตเต็มที่ชอบกินปลาอื่นที่ตัวเล็กกว่าเป็นอาหาร รวมถึงกินซากพืชและซากสัตว์อีกด้วย

-----------------------------------------------
ปลาดุกอุย 

ปลาดุกอุย หรือ ปลาอั้วะชื้อ ในภาษาแต้จิ๋ว (อังกฤษ: Broadhead catfish, Günther's walking catfish, ชื่อวิทยาศาสตร์Clarias macrocephalus) เป็นปลาน้ำจืดในวงศ์ Clariidae มีกระดูกท้ายทอยยื่นแหลมออกไปลักษณะคล้ายรูปสามเหลี่ยม ลำตัวสั้นป้อมกว่าปลาดุกด้าน (C. batrachus) ซึ่งอยู่ในสกุลเดียวกัน ลำตัวมีสีดำปนเหลือง มีจุดขาวเล็ก ๆ เรียงเป็นแถวขวางลำตัวหลายแถว มีครีบหลังสูงกว่าปลาทั่วไปมาก สามารถเคลื่อนที่บนบกได้เป็นระยะทางสั้น ๆ โดยใช้ครีบช่วย พบได้ในพื้นที่แถบประเทศไทยไปจนถึงเวียดนาม และมีการนำไปเลี้ยงในประเทศจีนมาเลเซียเกาะกวม และฟิลิปปินส์
บางครั้งมีความเข้าใจผิดกันว่าปลาดุกอุยคือปลาดุกด้านตัวเมีย แต่ที่จริงเป็นปลาคนละชนิดกัน ปลาดุกอุยเป็นที่นิยมของผู้บริโภคชาวไทยและชาวลาวมากกว่าปลาดุกด้าน เนื่องจากเนื้อมีรสชาติมัน อร่อย มีราคาที่สูงกว่าปลาดุกด้าน จึงได้มีการเพาะเลี้ยงและผสมเทียมในบ่อ แต่ปัจจุบันได้นำมาผสมกับปลาดุกเทศ (C. gariepinus) เป็นปลาลูกผสม เรียกว่า "บิ๊กอุย" ทำให้โตเร็วและเลี้ยงง่ายกว่าปลาดุกอุยแท้ ๆ ซึ่งได้มีการเพาะเลี้ยงอย่างแพร่หลาย[1]
ในภาษาใต้ เรียกปลาดุกอุยว่า "ดุกเนื้ออ่อน"

-----------------------------------------------
ปลาหมอ ( Anabas testudineus )

ปลาหมอ ปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Anabas testudineus ในวงศ์ปลาหมอ (Anabantidae) มีรูปร่างป้อม ลำตัวแบนข้าง ตาโต ปากกว้าง ขอบฝาปิดเหงือกหยักแข็ง เกล็ดใหญ่คลุมทั้งลำตัว มีขอบเกล็ดแบบหยัก ผิวสาก เส้นข้างลำตัวขาดตอน ครีบหลังยาวเกือบเท่าความยาวลำตัว มีก้านครีบแข็งแหลมคมจำนวนมากเช่นเดียวกับครีบก้น แต่ครีบก้นสั้นกว่า ครีบอกเล็กเป็นรูปไข่ ครีบหางปลายมน ตัวมีสีเขียวมะกอกและมีลายประสีคล้ำที่ข้างลำตัว ครีบใส ลำตัวด้านท้องมีสีเหลือง ขอบฝาปิดเหงือกตอนบนมีแต้มสีคล้ำ มีอวัยวะช่วยหายใจเป็นแผ่นริ้วย่น ๆ อยู่ตอนบนของของช่องเหงือก จึงสามารถฮุบอากาศจากบนผิวน้ำได้โดยตรงโดยไม่ต้องรอให้ออกซิเจนละลายในน้ำ และสามารถอยู่บนบกหรือพื้นที่ขาดน้ำได้เป็นระยะเวลานาน ๆ ซึ่งในฤดูฝนบางครั้งจะพบปลาหมอแถกเหงือกไถลคืบคลานไปบนบกเพื่อหาที่อยู่ใหม่ได้ ด้วยความสามารถอันนี้ในภาษาอังกฤษจึงเรียกปลาชนิดนี้ว่า "Climbing perch" หรือ "Climbing gourami"
ความยาวยาวประมาณ 10-13 เซนติเมตร ใหญ่สุดพบถึง 20 เซนติเมตร มีพฤติกรรมการวางไข่โดยตัวผู้และตัวเมียช่วยกันปรับที่วางไข่ โดยวางไข่ลอยเป็นแพ แต่จะปล่อยให้ลูกปลาเติบโตขึ้นมาเอง
ปลาหมอเป็นปลาที่สามารถพบได้ในทุกแหล่งน้ำ กระจายอยู่ทั่วไปในทวีปเอเชีย สำหรับในประเทศไทยพบทุกภาค และเป็นปลาที่คนไทยรู้จักกันเป็นอย่างดี ด้วยใช้เป็นอาหารมาช้านาน และมีความเชื่อว่าหากปล่อยปลาหมอจะทำให้ไม่เป็นโรคหรือหายจะโรคได้ ด้วยชื่อที่มีความหมายถึงหมอหรือแพทย์ผู้รักษาโรค และนิยมเลี้ยงเป็นปลาเศรษฐกิจในปัจจุบัน อีกทั้งในปลาที่มีสีกลายไปจากสีปกติ เช่น สีทองยังนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม ที่มีราคาขายแพงอีกด้วย
-----------------------------------------------
ปลาหมอบัตเตอร์  ( Tilapia buttikoferi  )

ปลาหมอบัตเตอร์ ปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Tilapia buttikoferi ในวงศ์ปลาหมอสี (Cichlidae) มีรูปร่างคล้ายปลานิล (Oreochromis niloticus) ทั้งนี้เนื่องจากปลานิลเดิมก็เคยอยู่ในสกุล Tilapia นี้มาก่อน
จัดเป็นปลาในวงศ์ปลาหมอสีชนิดหนึ่งที่มีขนาดใหญ่ มีสีสันลวดลายสวยงาม ลำตัวเป็นเส้นขีดสีคล้ำพาดขวางตลอดทั้งตัว สามารถปรับเปลี่ยนสีได้ตามอารมณ์และสภาวะแวดล้อม
มีขนาดโตเต็มที่ประมาณ 40 เซนติเมตร มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกาแถบตะวันตก และพบมากที่สุดที่ประเทศไลบีเรีย มีอุปนิสัยค่อนข้างดุร้าย ก้าวร้าว
สำหรับในประเทศไทย ปลาหมอบัตเตอร์นับว่าเป็นปลาหมอสีที่มีราคาถูก จึงมีผู้เลี้ยงแล้วนำไปปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติมากมาย จนกลายเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นชนิดหนึ่งไปแล้ว เช่นเดียวกับปลานิล

-----------------------------------------------






วันพุธที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2554

รวมสายพันธุ์ปลานักล่าในประเทศไทย2 (Introduction game fish popular in Thailand)


รวมสายพันธุ์ปลานักล่าในประเทศไทย2 (Introduction game fish popular in Thailand)


รวมปลานักล่า ประเภทกินสัตว์น้ำขนาดเล็กกว่า

ปลาช่อน ( Channidae )


 ปลาช่อน ปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Channa striata อยู่ในวงศ์ปลาช่อน (Channidae) มีส่วนหัวค่อนข้างโต รูปร่างทรงกระบอกยาว ครีบหางเรียวปลายมน ปากกว้าง ภายในปากมีฟันเขี้ยวบนเพดาน ลำตัวสีคล้ำอมมะกอกหรือน้ำตาลอ่อน มีลายเส้นทแยงสีคล้ำตลอดทั้งลำตัว 6-7 เส้น ด้านท้องสีจางตัดกับด้านบน ครีบสีคล้ำมีขอบสีเหลืองอ่อน ครีบท้องจาง มีขนาดลำตัวประมาณ 30-40 เซนติเมตร ใหญ่สุดได้ถึง 1 เมตร

โดยปลาช่อนชนิดนี้มีความพิเศษไปกว่าปลาช่อนชนิดอื่น ๆ คือ สามารถแถกไถตัวคืบคลานไปบนบกเพื่อหาที่อยู่ใหม่ได้ รวมทั้งสามารถหลบอยู่ใต้ดินในฤดูฝนแล้งเพื่อรอฝนมาได้เป็นแรมเดือน โดยสะสมพลังงานและไขมันไว้ ที่เรียกว่า "ปลาช่อนจำศีล" พบอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำทั่วประเทศไทย พบไปจนถึงเอเชียใต้พม่าและอินโดนีเซียนิยมนำมาบริโภค ปรุงเป็นอาหารได้หลากหลายทั้งสดและตากแห้ง เป็นปลาน้ำจืดเศรษฐกิจที่สำคัญจนอาจเรียกได้ว่าเป็นปลาน้ำจืดเศรษฐกิจอันดับหนึ่ง[1] เลี้ยงได้ทั้งในบ่อและกระชังตามริมแม่น้ำ นอกจากนี้ยังนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามด้วย โดยเฉพาะตัวที่สีกลายเป็นสีเผือกหรือปลาที่พิการตัวสั้นกว่าปกติ
ปลาช่อนในบางพื้นที่ เช่น ที่จังหวัดสิงห์บุรี ขึ้นชื่อมาก ที่เรียกว่า "ปลาช่อนแม่ลา" มีประเพณีพื้นถิ่นคือเทศกาลกินปลา
ปลาช่อน มีชื่อเรียกตามภาษาถิ่นในแต่ละภาคว่า "หลิม" ในภาษาเหนือ "ค้อ" หรือ "ก๊วน" ในภาษาอีสาน

---------------------------------------------------------------------------
ปลาชะโด ( Great Snakehead )


Great Snakehead


ปลาชะโด (อังกฤษGreat Snakehead, Giant Snakehead) เป็นชื่อปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Channa micropeltes อยู่ในวงศ์ปลาช่อน(Channidae) จัดเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในวงศ์นี้ โดยมีขนาดโตเต็มที่ได้ถึง 1 เมตร หรือ 1.5 เมตร หนักถึง 20 กิโลกรัม มีรูปร่างลำตัวค่อนข้างกลมยาว พื้นลำตัวสีน้ำตาลอมเขียว มีลายประสีดำกระจายทั่วตัว ภายในปากมีฟันแหลมคม เมื่อยังเป็นปลาขนาดเล็กจะมีสีลำตัวเป็นสีน้ำตาลและมีแถบสีดำ ส้ม และเหลืองพาดตามความยาวลำตัว 2 แถบ บริเวณหางสีแดงสด เมื่อเริ่มโตขึ้นมาสีและลายจะเริ่มจางหายไปกลายเป็นสีเขียวอมน้ำตาลคล้ายสีของเปลือกหอยแมลงภู่แทน
โดยการที่สีของปลาเปลี่ยนไปตามวัยนี้ ชะโดจึงมีชื่อเรียกต่างออกไปตามวัย เมื่อยังเป็นลูกปลาจะถูกเรียกว่า "ชะโด" หรือ "อ้ายป๊อก" เมื่อโตเต็มที่แล้วจะถูกเรียกว่า "แมลงภู่" ตามสีของลำตัว
นอกจากจะเป็นปลาที่ใหญ่ที่สุดในวงศ์นี้แล้ว ยังมีอุปนิสัยดุร้ายมากที่สุดด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูผสมพันธุ์ปลาตัวผู้ซึ่งเป็นผู้ดูแลไข่และลูกอ่อน จะกัดและทำร้ายสัตว์ทุกชนิดที่ผ่านเข้ามาใกล้รัง ไม่เว้นแม้กระทั่งมนุษย์ จึงมักมีผู้ถูกชะโดกัดทำร้ายบ่อย ๆ ในช่วงนี้ ฤดูผสมพันธุ์ของปลาชะโดจะมีขึ้นในเดือนกรกฎาคม-กันยายน รังมีการตีแปลงใกล้ชายฝั่ง เรียกว่า "ชะโดตีแปลง"
เป็นปลาที่พบได้ทุกภาคของประเทศ และพบในประเทศใกล้เคียงเช่น มาเลเซียอินเดียอินโดนีเชีย ตอนใต้ของจีน และประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วย
ชะโดมีการเลี้ยงในกระชังตามแม่น้ำสายใหญ่เช่น แม่น้ำเจ้าพระยาสะแกกรัง และอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์เขื่อนวชิราลงกรณ์ จังหวัดกาญจนบุรี มักจะบริโภคด้วยการทำเป็นปลาเค็มและตากแห้งมากกว่าปรุงสด เพราะเนื้อแข็งและมีก้างเยอะ[1]
นอกจากเป็นปลาเศรษฐกิจแล้ว ยังมีการเลี้ยงเป็นปลาสวยงามด้วย โดยเฉพาะลูกปลา พบมีขายในตลาดปลาสวยงามบ่อย ๆ และมีราคาถูก

---------------------------------------------------------------------------

ปลากระสง (Blotched Snakehead )


                                               Blotched Snakehead

ปลากระสง (อังกฤษBlotched Snakehead, Forest Snakehead) เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Channa lucius อยู่ในวงศ์ปลาช่อน (Channidae) มีรูปร่างคล้ายปลาช่อน (C. striata) แต่มีส่วนหัวที่แบนกว่า จะงอยปากงอนขึ้นเล็กน้อย และมีรูปร่างที่ป้อมสั้นกว่า สีสันบริเวณลำตัวเป็นสีเขียวมะกอกมีลวดลายคล้ายลายไม้ลูกปลาขนาดเล็กมีพฤติกรรมอยู่เป็นฝูง มีลายแถบดำพาดตามแนวนอนตลอดตัว มีสีแดง
มีความยาวเต็มที่ประมาณ 40 เซนติเมตร พบได้ในแหล่งน้ำนิ่งและแหล่งน้ำขนาดใหญ่รวมถึงในบริเวณพื้นที่ป่าพรุด้วยทั่วประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน [1]
นิยมเอามาบริโภคสดและตากแห้งเหมือนปลาในวงศ์ปลาช่อนทั่วไป อีกทั้งสามารถเลี้ยงเป็นปลาสวยงามได้
ปลากระสง ยังมีชื่อเรียกอื่น ๆ อีก เช่น "กระจอน" ในภาษาอีสาน หรือ "ช่อนไช" ในภาษาใต้

---------------------------------------------------------------------------

ปลากราย  (Chitala ornata )

Chitala ornata

ปลากราย ปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Chitala ornata อยู่ในวงศ์ปลากราย (Notopteridae) มีปากกว้างมาก มุมปากอยู่เลยขอบหลังลูกตา ในตัวเต็มวัยส่วนหน้าผากจะหักโค้ง ส่วนหลังโก่งสูง ในปลาวัยอ่อนมีสีเป็นลายเสือคล้ายปลาสลาด แต่จะเปลี่ยนเป็นสีเทาเงินและมีจุดกลมใหญ่สีดำขอบขาวที่ฐานครีบก้นตั้งแต่ 3 - 20 ดวง ซึ่งมีจำนวนและขนาดแตกต่างกันออกไปในแต่ละตัว มีขนาดโดยเฉลี่ย 60 ซ.ม. ใหญ่สุดที่พบคือ 1 เมตร หนัดถึง 15 ก.ก.
มักอาศัยอยู่ในบริเวณที่มีกิ่งไม้ใต้น้ำหรือพืชน้ำค่อนข้างหนาแน่น อยู่รวมกันเป็นฝูงเล็ก อาหารได้แก่ ปลาและสัตว์น้ำขนาดเล็ก พบในแหล่งน้ำทั้งแหล่งน้ำนิ่งและแม่น้ำทั่วประเทศไทย แต่ปัจจุบันพบน้อยลงมาก ปลากรายนับเป็นปลาน้ำจืดอีกชนิดหนึ่งที่คนไทยนิยมบริโภค โดยเฉพาะใช้เป็นวัตถุดิบผลิตทอดมันหรือลูกชิ้น ราคาขายในตลาดจึงสูง ส่วนบริเวณเชิงครีบก้น เรียกว่าเชิงปลากราย ก็เป็นส่วนที่นิยมรับประทานโดยนำมาทอด แม้ว่าเนื้อจะมีก้างมาก แต่ก็เป็นที่นิยมเพราะมีรสชาติอร่อย นอกจากใช้เป็นอาหารแล้ว ยังนิยมเลี้ยงเป็นปลาเศรษฐกิจ เช่น เลี้ยงในท้องร่องสวน และนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามด้วย ที่เลี้ยง ง่าย อดทน และจะมีราคาแพงยิ่งขึ้นในตัวที่จุดเยอะ หรือตัวที่สีกลายเป็นสีเผือก หรือสีทอง ขาว หรือในตัวที่เป็นปลาพิการ ลำตัวสั้นกว่าปกติ มีชื่อเรียกอื่น เช่น "หางแพน" ในภาษากลาง "ตอง" ในภาษาอีสาน "ตองดาว" ในภาษาเหนือ
---------------------------------------------------------------------------

ปลาอะราไพม่า ( Arapaima gigas )


                                                                Arapaima gigas


ปลาอะราไพม่า หรือที่นิยมเรียกกันในภาษาไทยว่า ปลาช่อนยักษ์อเมซอน ปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Arapaima gigas ในวงศ์ปลาตะพัด(Osteoglossidae) อันดับปลาลิ้นกระดูก (Osteoglossiformes) มีรูปร่างคล้ายปลาช่อน (Channa stiata) มาก เป็นปลาที่มีขนาดใหญ่มาก เกล็ดมีขนาดใหญ่ มีสีดำเงาเป็นมัน ครีบบน ครีบล่าง มีตำแหน่งค่อนไปทางหาง มีแถบสีแดง-ส้ม ตัดกับพื้นสีดำ มีลำตัวค่อนข้างกลมและเรียวยาว ส่วนหัวมีลักษณะแข็งและมีน้ำหนักมาก ส่วนลำตัวด้านท้ายมีลักษณะแบนกว้าง ในขณะที่ปลายังเล็กพื้นลำตัวจะมีสีเขียวเข้ม และลำตัวส่วนที่ค่อนไปทางหางจะเป็นสีดำ และรูปร่างจะออกไปทางทรงกระบอก เมื่อโตขึ้นบริเวณลำตัวและส่วนที่ค่อนไปทางหาง ครีบ และหาง จะปรากฏสีชมพูปนแดงหรือสีบานเย็นประแต้มกระจายอยู่ทั่วไป เมื่อจวนตัว ปลาอะราไพม่าจะใช้ส่วนหัวที่แข็งพุ่งชนและกระโดดใส่เมื่อความรุนแรงเพื่อป้องกันตัว[1]
ปลาอะราไพม่า ไม่มีหนวดซึ่งแตกต่างไปจากปลาชนิดอื่น ๆ ในวงศ์เดียวกัน และเป็นปลาที่มีอัตราการเจริญเติบโตที่ไวมาก ภายในเวลาเพียง 1-2 ปี สามารถมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นถึง 3-5 เท่าได้ ปลาที่โตเต็มที่เท่าที่มีการบันทึกสถิติไว้คือยาว 4.5 เมตร น้ำหนักกว่า 400 กิโลกรัม
พบในแม่น้ำอเมซอนและลุ่มน้ำสาขาในทวีปอเมริกาใต้ โดยชาวพื้นเมืองจะเรียกว่า พิรารูคู (Pirarucu) ขณะที่ชาวพื้นเมืองที่ประเทศเปรูจะเรียกว่า ไพชี่ (Phiche) โดยปลาชนิดนี้เป็นปลาที่ชาวพื้นเมืองใช้บริโภคกันในท้องถิ่น ในบางท้องที่มีการเพาะเลี้ยงกันเป็นปลาเศรษฐกิจ[2]
ปลาอะราไพม่ากินอาหาร ได้แก่ ปลาและสัตว์น้ำขนาดเล็กเป็นอาหาร ในบางครั้งสามารถกินสัตว์เลือดอุ่นขนาดเล็กกว่าที่อยู่บนบก เช่น ลิง หรือ สุนัข หรือ นก ด้วยการกระโดดงับได้อีกด้วย
---------------------------------------------------------------------------

ปลาเรดเทลแคทฟิช  ( Redtail catfish )


Redtail catfish

ปลาเรดเทลแคทฟิช (อังกฤษRedtail catfish) เป็นปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง ในอันดับปลาหนัง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Phractocephalus hemioliopterusในวงศ์ปลากดอเมริกาใต้ (Pimelodidae) จัดเป็นปลาเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่อยู่ในสกุล Phractocephalus[1]

 


มีรูปร่างส่วนหัวแบนกว้างและใหญ่ ปากมีขนาดใหญ่ และอ้าปากได้กว้าง ภายในช่องปากจะมีฟันหยาบ ๆ สีแดงสด ซึ่งฟันลักษณะนี้จะใช้สำหรับดูดกลืนอาหารเข้าไปทั้งตัว โดยไม่เคี้ยวหรือขบกัด แต่จะใช้งับเพื่อไม่ให้ดิ้นหลุดเท่านั้น บริเวณส่วนหัวมีจุดกระสีน้ำตาลหรือดำกระจายอยู่ทั่ว ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลแดง ส่วนท้องและด้านข้างลำตัวสีขาวหรือสีเหลือง ปลายหางและครีบหลังมีสีแดงจัด อันเป็นที่มาของชื่อ มีหนวดทั้งหมดสี่คู่ คู่แรกยาวที่สุดอยู่บริเวณมุมปาก หนวดอื่น ๆ อยู่บริเวณใต้คาง
ปลาเรดเทลแคทฟิช เป็นปลาที่หากินตามท้องน้ำ โดยกินอาหารได้แก่ ปลาขนาดเล็กกว่าและสามารถกินได้ถึงขนาดที่เท่าตัวหรือใหญ่กว่าได้ ด้วยการกลืนเข้าไปทั้งตัวโดยไม่เคี้ยว เป็นปลาที่ตะกละ กินจุ กินไม่เลือก และเจริญเติบโตได้เร็วมาก โดยเฉพาะลูกปลา
พบกระจายพันธุ์ในลุ่มแม่น้ำอเมซอนโอริโนโค และเอสเซคิวโบ โดยมีชื่อเรียกในภาษาถิ่นว่า Cajaro และ Pirarara
มีขนาดโตเต็มที่ได้ประมาณ 1-1.5 เมตร น้ำหนักหนักได้ถึง 51.5 กิโลกรัม
เป็นปลาที่นิยมตกเป็นเกมกีฬา และนิยมบริโภคกันทั่วไป โดยเฉพาะในประเทศไทยมีการเพาะเลี้ยงกันเพื่อบริโภคแทนเนื้อปลาคัง (Hemibagrus wyckioides) ซึ่งเป็นปลาพื้นบ้านทดแทน เนื่องด้วยการที่เพาะขยายพันธุ์ง่ายและเติบโตเร็ว อีกทั้งเนื้อยังมีรสชาติดี และยังนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามอีกด้วย ซึ่งจัดว่าเป็นปลาจากต่างประเทศที่มีการเลี้ยงกันมานานกว่า 30 ปีแล้ว มีราคาขายที่ไม่แพง ในปัจจุบัน ยังมีการผสมข้ามพันธุ์กับปลาในวงศ์เดียวกัน เช่น ปลาไทเกอร์โชวเวลโนส (Pseudoplatystoma fasciatum) เกิดเป็นลูกผสมสายพันธุ์ใหม่ หรือมีสีสันที่แตกต่างไปจากปลาดั้งเดิมอีกด้วย เช่น สีขาวล้วน หรือสีดำทั้งลำตัว หรือปลาเผือก ซึ่งปลาที่มีสีสันแปลกเช่นนี้จะมีราคาซื้อขายที่แพงกว่าปลาปกติมาก

---------------------------------------------------------------------------

ปลากดคัง  ( Asian Redtail Catfish )


 Asian Redtail Catfish

ปลากดคัง (อังกฤษAsian Redtail Catfish) ปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hemibagrus wyckioides อยู่ในวงศ์ปลากด (Bagaridae) ที่มีขนาดโตเต็มที่ราว 1.5 เมตร หนักได้ถึง 100 กิโลกรัม แต่ที่พบโดยเฉลี่ยจะมีขนาดประมาณ 50 - 60 เซนติเมตร ลำตัวมีสีเทาอ่อนอมฟ้าหรือเขียวมะกอก ท้องสีจาง ครีบหางและครีบอื่น ๆ มีสีแดงสดหรือสีส้มสด ไม่มีแถบขาวบนขอบครีบหางส่วนบนเหมือนปลากดชนิดอื่น ๆ พบในแม่น้ำของไทยทุกภาค และในแหล่งน้ำนิ่งขนาดใหญ่ นิยมนำมาบริโภคโดยการปรุงสด ลวก จิ้ม หรือยำ มีราคาค่อนข้างแพง มีการเพาะเลี้ยงเป็นกระชังอยู่ริมแม่น้ำสายใหญ่บางสาย และยังเลี้ยงเป็นปลาสวยงามได้อีกด้วย
ปลากดคังมีชื่อเรียกอื่น อีกเช่น "ปลากดแก้ว" "ปลากดเขี้ยว" เป็นต้น

---------------------------------------------------------------------------
ปลาจระเข้  ( Alligator gar )



ปลาจระเข้ (อังกฤษAlligator gar;ชื่อวิทยาศาสตร์:Lepisosteus spatula) เป็นปลาที่ใหญ่ที่สุดในกลุ่มปลาการ์[1] มีปากคล้ายกับจระเข้รูปร่างกลมยาว ตากลมสีดำ บริเวณลำตัวจรดหางคล้ายปลา มีครีบเล็กใต้ท้อง 2 ครีบคู่ ใต้ท้องสีขาว บริเวณปลายหาง ใกล้หางมีครีบใหญ่อีก 2 ครีบ เป็นปลาพื้นเมืองของสหรัฐอเมริกา แถบฟลอริดา แถบลุ่มแม่น้ำมิซิซิปปี้ ขนาดเมื่อโตเต็มวัยประมาณ 350 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 127กิโลกรัมมีอายุยืนยาว